เรื่องเกี่ยวกับ ยาคุมกำเนิด ที่ยังเข้าใจผิด (ตอนที่ 1)


...

การคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก คือ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรายเดือน แต่ละยี่ห้อจะมีปริมาณฮอร์โมนไม่เท่ากัน รวมถึงฮอร์โมนรุ่นใหม่รุ่นเก่าต่างกันไป ซึ่งสภาพร่างกายของผู้หญิงแต่ละคนก็ตอบสนองต่อยาคุมไม่เท่ากัน ส่งผลให้พบผลข้างเคียงมากน้อยต่างกันได้

ความเชื่อ - หลายคนมักเข้าใจผิดว่าไม่ควรกินยาคุมรายเดือนต่อเนื่องนาน เพราะจะทำให้เกิดผลเสียสะสมในร่างกาย แถมหยุดกินแล้วจะทำให้มีลูกยากไปอีก จึงกินๆ หยุดๆ ไม่สม่ำเสมอ หรือบางคนก็ไปกินยาคุมฉุกเฉินแทนเลย (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างมาก เพราะยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับการกินยาคุมรายเดือนอย่างถูกวิธี)

ความจริง – ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดค่อนข้างที่จะหมดฤทธิ์ในการคุมกำเนิดไว ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องและถูกต้องถึงจะสามารถคุมกำเนิดได้ดี ทำให้บางคนที่ทานยาคุมกำเนิดไม่ต่อเนื่องหรือหยุดทานยาได้ไม่นานก็ตั้งครรภ์ได้แล้ว แต่หลังการหยุดใช้ยาคุมกำเนิดอาจจะส่งผลให้ประจำเดือนขาดหรือมาน้อยว่าปกติได้บ้าง ถ้ากินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน เพราะร่างกายคุ้นเคยกับฮอร์โมน ต้องให้เวลาให้ร่างกายปรับตัวประมาณ 1-2 เดือน ไข่ก็จะสามารถตกได้เองตามธรรมชาติ และสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ หากไม่ได้มีปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ

ยาคุมรายเดือนรุ่นใหม่บางชนิด เช่น ยาคุมสูตรเอสโตรเจนต่ำ ผสมโปรเจสตินรุ่นที่ 3 ก็สามารถทานต่อเนื่องได้ โดยมีผลข้างเคียงน้อย เช่น ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากสิว เป็นต้น

ดังนั้น ถ้ามีโอกาสมีเพศสัมพันธ์บ่อย หรือต้องการใช้ยาคุมกำเนิด ลองปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือ บริการเภสัชกรรมทางไกลที่ได้มาตรฐาน เพื่อเลือกยาคุมชนิดที่เหมาะสมและปลอดภัยในระยะยาวได้ค่ะ

#ฉุกคิดดีกว่าฉุกเฉิน
#ร้านยาที่ดีต้องมีเภสัชกร
บทความโดย ภญ.สุลาวัณย์ วรรณโคตร
กลุ่มเภสัชกร เภแคร์ Bhaecare

Ref :

  1. นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล. “กินยาคุมบ่อยมีลูกยาก ใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานๆ จะท้องได้หรือไม่” ไม่ระบุปี. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://worldwideivf.com/others/%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81/ สืบค้นวันที่ 4 สิงหาคม 2022.
  2. Vincenzo D.L. et al. “Hormonal contraceptives: pharmacology tailored to women’s health”. Human Reproduction Update, Vol.22, No.5 pp. 634–646, 2016.