คุณแม่หลังคลอด คุมกำเนิดอย่างไร ?


...

เริ่มมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดได้เมื่อไหร่

ปกติแล้วแพทย์ผู้ทำคลอดจะแนะนำว่า ควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกระทั่งมาตรวจหลังคลอดในอีก 5-6 สัปดาห์ เพื่อคุณหมอจะได้ตรวจดูว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีหรือไม่ และหลังจากตัวมดลูกจะเริ่มเข้าอู่และช่องคลอดจะกระชับเข้าที่เรียบร้อย รวมทั้งน้ำคาวปลาหมดไปแล้ว จึงสามารถเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้

คำแนะนำและข้อควรระวังในการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด

หากการตรวจหลังคลอดแล้วคุณหมอแจ้งว่าปกติ แสดงว่าแผลฝีเย็บน่าจะหายแล้วก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ หรือในบางกรณีคุณแม่คลอดเองโดยวิธีธรรมชาติ ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหลังคลอดก่อน แต่บางท่านก็อาจจะไม่ราบรื่นนัก เพราะเกิดภาวะช่องคลอดแห้ง อาการนี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราว เนื่องจากความกังวลจากการปรับตัวหลายอย่างซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ สามารถมีเพศสัมพันธ์โดยใช้สารหล่อลื่นช่วยได้ แต่ถ้าคุณแม่มีอาการเจ็บทุกครั้งหลังจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง หรือของเหลวที่ออกมาจากช่องคลอด หรืออาจจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ควรรีบปรึกษาสูติแพทย์

การคุมกำเนิดที่เหมาะสำหรับคุณแม่หลังคลอดทำอย่างไร

มีหลายวิธีเลยครับ แต่วิธีหนึ่งที่ประสิทธิภาพดี สะดวก และความปลอดภัยสูง สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ยังให้นมลูก คือ “ยาเม็ดคุมกำเนิดรายเดือนชนิดฮอร์โมนเดี่ยว” แบบแผง 28 เม็ด ให้เริ่มทานในช่วงวันที่ 21-28 หลังคลอด เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพเต็มที่ควรรับประทานในเวลาเดียวกันด้วย และหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันแรกที่กินยาคุมกำเนิด ควรใช้ถุงยางร่วมด้วยนะครับ

นอกจากนี้สำหรับคุณแม่บางท่านที่เคยมีประวัติปวดหัวแบบไมเกรน หรือ ห่วงสุขภาพเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ก็เหมาะที่จะทานยาเม็ดคุมกำเนิดรายเดือนชนิดฮอร์โมนเดี่ยวนี้ต่อเนื่องไปในระยะยาวได้ด้วย หากมีข้อสงสัยอื่นๆเรื่องยาคุมกำเนิด ก็สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาใกล้บ้าน หรือบริการเภสัชกรรมทางไกลที่ได้มาตรฐาน ได้เลยครับ

บทความโดย ภก.พงษ์ศิวะ กู่นอก
กลุ่มเภสัชกร เภแคร์ - Bhaecare

#คุมให้ดีชีวิตก็ดี
#ร้านยาที่ดีต้องมีเภสัชกร

Ref:

  1. “Sex หลังคลอดบุตร” พญ.เจนจิต ฉายะจินดา. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/1172_1.pdf สืบค้นวันที่ 23 ตุลาคม 2022.
  2. “13 คำถามยอดฮิตสำหรับคุณแม่หลังคลอด” รพ.บางปะกอก3. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://bangpakok3.com/care_blog/view/91
  3. World Health Organization, “Medical Eligible Criteria for Contraceptive Use”. 5th edition. 2015