แบบไหนเรียกว่า ประจำเดือนมาไม่ปกติ ?


...

ก่อนจะตอบคำถามนี้ เรามาทำความเข้าใจก่อนค่ะว่า “ประจำเดือนมาปกติ” เป็นอย่างไร?

  • ระยะเวลา - ช่วงระยะห่างของการมีประจำเดือนในแต่ละครั้ง มักอยู่ที่ 21-35 วัน และ แต่ละเดือนจะมีประจำเดือนมาราวๆ 3-5 วัน (ไม่ควรเกิน 7 วัน)
  • ปริมาณ - โดยทั่วไปแล้วประจำเดือนที่ออกมาในแต่ละวัน ไม่ควรเกิน 80 ซีซี เทียบได้กับการเปลี่ยนผ้าอนามัย 4แผ่นต่อวัน แบบที่มีเลือดชุ่มเต็มแผ่น (ปริมาณทั่วไปโดยเฉลี่ยจะใช้ผ้าอนามัยต่อวัน 2-3 แผ่น)

ประจำเดือนที่ถือว่ามาไม่ปกติ ก็คือ ไม่เป็นไปตามนิยามด้านบนนั่นเองค่ะ เช่น

  • ถ้ามามากติดต่อกันนานเกิน 7 วัน หรือ มาน้อยกว่า2วัน เป็นหยดเพียงเล็กน้อย ก็จะเข้าข่าย ภาวะประจำเดือนมาก หรือ ประจำเดือนน้อย
  • ถ้ามาบ่อยกว่ารอบ 21วัน หรือ ห่างเกินรอบ 35 วัน ก็คือ ภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

สาเหตุของประจำเดือนมาไม่ปกติเกิดได้หลายปัจจัย เช่น โรคทางสตรี ภาวะเครียด น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไปจนทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล และการใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด เป็นต้น

การใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบพร่ำเพรื่อ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการผิดปกติที่อาจพบได้คือ ประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย ตกขาวเป็นสีน้ำตาล มักเกิดในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน หรืออาจคลาดเคลื่อนไปบ้างโดยมาเร็วหรือมาช้าไปราว 1 สัปดาห์ ซึ่งทำให้ผู้หญิงหลายคนเครียดยิ่งขึ้นเพราะกังวลว่าตั้งครรภ์หรือไม่

ดังนั้นถ้ามีโอกาสเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์ ควรเตรียมตัวป้องกันด้วยวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงดีกว่า เช่น ยาคุมกำเนิดรายเดือนสูตรที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินรุ่นใหม่ที่มีฤทธิ์สมดุล (neutral progestin) เช่น ดีโซเจสทริล, เจสโตดีน, นอร์เจสติเมท เป็นต้น เพราะมีงานวิจัยว่าคุมกำเนิดได้ดี ผลข้างเคียงน้อย ไม่เพิ่มน้ำหนักตัว ไม่ค่อยพบภาวะประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย และจำนวนวันที่มีประจำเดือนก็อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วยค่ะ

สาวๆคนไหน กำลังสงสัยปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติ รีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่สถานพยาบาลหรือร้านขายยาใกล้บ้าน หรือบริการเภสัชกรรมทางไกลที่ได้มาตรฐานก็ได้นะคะ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาได้ตรงจุด

#คุมให้ดีชีวิตก็ดี #ฉุกคิดดีกว่าฉุกเฉิน #ร้านยาที่ดีต้องมีเภสัชกร

บทความโดย ภญ. บุณฑริกา บุญไชยแสน กลุ่มเภสัชกร เภแคร์ - Bhaecare

แหล่งอ้างอิง :

  1. โรงพยาบาลศิริราชปิยะมหาราชการุณย์, “ประจำเดือนมาไม่ปกติ บอกอะไร”. ธันวาคม 2564 [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/827/Amenorrhea สืบค้นวันที่ 4 พย. 2565.
  2. โรงพยาบาลเปาโล, “ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจไม่ต้องกินยาปรับฮอร์โมนเสมอไปนะ” กรกฎาคม 2562 [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจไม่ต้องกินยาปรับฮอร์โมนเสมอไปนะ! | โรงพยาบาลเปาโล - Paolo Hospital สืบค้นวันที่ 5 พย. 2565.
  3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน” 2018 February. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/419/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B8%99/%A3 สืบค้นวันที่ 5 พย. 2565.
  4. JAISAMRARN U, REINPRA YOON D, VIRUTAMASEN P. “Clinical Study of a Monophasic Pill Containing 20 µg Ethinylestradiol and 150 µg Desogestrel in Thai Women”. J Med Assoc Thai 2001; 84 (Suppl 1): S377-S383.